ผ้าทอเมืองอุบลฯ

ผ้าทอเมืองอุบลฯ

เรียบเรียงโดย สิทธิชัย สมชาติ และบุญชัย ทองเจริญบัวงาม

มรดกภูมิปัญญาทางด้านวัฒนธรรมในเรื่องผ้าทอของจังหวัดอุบลราชธานี ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางด้านวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ในด้านรูปแบบและลวดลายของผ้าที่ทอขึ้นใช้ในเมืองอุบลราชธานี ตั้งแต่ชนชั้นเจ้าเมืองลงมาถึงสามัญชนธรรมดา ตามหลักฐานในพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบกลับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์

เมื่อครั้งส่งผ้าทอของเมืองอุบลราชธานีขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในครั้งนั้น ทรงกล่าวถึง “ผ้าเยียรบับลาว” นับเป็นหลักฐานที่สำคัญว่า เมืองอุบลราชธานีในอดีต ก็มีสิ่งถักทอมากมายหลายชนิดบ่งบอกถึงฐานานุศักดิ์ แบ่งระบบชนชั้นผู้ปกครองได้อย่างชัดเจน ถือเป็นการพัฒนาในด้านรูปแบบและลวดลายของการแต่งกายของผู้คนสมัยนั้นได้อย่างชัดเจน

ชนิดผ้าทอของเมืองอุบลราชธานี หากจะแบ่งตามชนิดและประเภท สามารถแบ่งได้ ดังนี้:

  1. ผ้าเยียรบับลาว
  2. ผ้าซิ่นยกดอกเงิน-ดอกคำ ลายสร้อยดอกหมาก ลายสร้อยพร้าว (ลายจั่นพร้าว) ลายดอกแก้ว (ลายดอกพิกุล)
  3. ผ้าซิ่นมุก/ซิ่นทิวมุก
  4. ผ้าซิ่นหมี่คั่น/ซิ่นหมี่น้อย (ลายหอปราสาทลายนาคน้อย ลายจอนฟอน ลายนาคเอี้ย ลายหมากจับ ลายหมี่คองเอี้ย)
  5. ผ้าซิ่นมัดหมี่ ลายหมี่โคมห้า โคมเจ็ด หมี่ตุ้ม หมวง หมี่นาค หมีหมากจับ หมีหมากบก
  6. ผ้าซิ่นทิว/ซิ่นช่วย/ซิ่นเครือก๋วย
  7. ผ้าซิ่นไหมก่อม/ซิ่นไหมเป็นก้อม/ซิ่นสีไพล/ซิ่นตาแหล่
  8. ผ้าซิ่นหมี่ฝ้าย
  9. แพรเบี่ยง
  10. แพรตุ้ม/แพรขิด
  11. แพรไส้ปลาไหล (แพรไส้เอี่ยน)
  12. แพรอีโป้ (ผ้าขาวม้าเชิงขิด)
  13. ผ้าตาโค้ง (โสร่งไหม)
  14. ผ้าขี้งา
  15. หมอนขิด
  16. ผ้าต่อหัวซิ่นชนิดต่างๆ (หัวจุกดาว จกดอกแก้วทรงเครื่อง หัวขีดคั่น)
  17. ตีนซิ่นแบบเมืองอุบลชนิดต่างๆ (ตีนกระจับย้อย ตีนตวย ตีนขิดปราสาท ตีนขิดดอกแก้ว ตีนช่อ ตีนขิดคั่น)
  18. ผ้ากาบบัว (ผ้าประจัดจังหวัด พ.ศ. ๒๕๒๔-ปัจจุบัน)

การสืบทอดภูมิปัญญาผ้าทอเมืองอุบลฯ ยังเป็นสิ่งแสดง ทักษะความสามารถของการทอผ้าชั้นสูงของช่างทอ ผ้าเมืองอุบลฯที่ได้ทํางานกับเจ้านายเมืองอุบลฯในท้องถิ่น และลวดลายผ้าหลายอย่างเป็นงานออกแบบความคิด สร้างสรรค์ที่ประยุกต์มาจากลวดลายผ้าในราชสํานัก เช่น ผ้าเยียรบับลาว ที่เจ้านาย เมืองอุบลฯ ผลิตส่งให้ราชสํานัก สยาม และลายตีนซิ่นที่นําลายกรวยเชิงมาประยุกต์เป็นตีนซิ่นแบบเมืองอุบลฯ แสดงถึงสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ ระหว่างศิลปะผ้าราชสํานักไทยและศิลปะผ้าทอเมืองอุบลฯ ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันภูมิปัญญาเหล่านี้เสี่ยงต่อการสูญหายโดยเฉพาะส่วน “คุณค่าความหมายทางประวัติศาสตร์และกระบวนการในการผลิต” ซึ่งการมีส่วนร่วมของ ชุมชนเจ้าของวัฒนธรรมในการวิจัยครั้งนี้ จะมีบทบาทสําคัญในการสืบทอดและสงวนรักษาองค์ความรู้นี้ให้เป็นมรดก ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในขอบเขตประเทศไทยและของโลกงานผ้าทอเมืองอุบลฯ มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือ

  1. ลวดลายผ้าหลายอย่างเป็นงานออกแบบความคิดสร้างสรรค์ที่ประยุกต์มาจากลวดลายผ้าสยาม เช่น ผ้าเยียรบับลาว ที่เจ้านายเมืองอุบลฯผลิตส่งให้ราชสํานักสยาม
  2. ลายตีนซิ่นที่นําลายกรวยเชิงของลายผ้าในราชสํานักไทย มาประยุกต์ออกแบบเป็นตีนซิ่นแบบเมืองอุบลฯ ด้วยการใช้เทคนิคการทอขิตของอีสาน จึงเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะผ้าราชสํานักและศิลปะผ้าทอเมืองอุบลฯ
  3. ลายหัวซิ่นที่ใช้การเทคนิคการทอจก ลายดาวที่เป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากผ้าอีสานทั่วไป
  4. ลายมัดหมี่ของเมืองอุบล จะนิยมการให้ลายละเอียดของลายผ้าแบบ “หมี่สองสอด” ที่เสริมความประณีต ของลายผ้า
  5. มีการผสมผสานและประยุกต์เทคนิคการทอผ้าจนเกิดเป็นงานผ้าทอใหม่ กรณี “ผ้าซิ่นทิวมุกจกดาว” ที่ผสมเทคนิคการตั้งสีเครือเส้นยืน การทอเสริมเส้นยืนพิเศษ และการจกเสริมเส้นพุ่งพิเศษ ในผืนเดียว จนเป็นงาน ผ้าทอที่เป็นเอกลักษณ์

กลวิธีการผลิตผ้าทอเมืองอุบลฯ

  1. การทอผ้า ได้แก่ ความรู้ในการทอผ้าเยียรบับลาว นําความคิดสร้างสรรค์ลวดลายผ้าจากผ้าราชสํานักสยาม และการทอด้วยเทคนิคการ “ยก” เทคนิคการ “ขิด” และผสมเทคนิคการ “จก” และมีการใช้อุปกรณ์การทอผ้าช่วยใน การทอ คือ “ตะกอแนวดิ่ง” ในการยกเส้นยืนเพื่อสร้างลวดลายผ้า การจัดองค์ประกอบสีสันที่ซับซ้อนหลายสีเป็นต้น
    นอกจากนี้ผ้าไหมคุณภาพสูงของเมืองอุบลฯ ยังรักษา “การตีเกลียวไหมเส้นพุ่ง” หลายครั้งเพื่อเพิ่มความมันวาว และเนื้อผ้าที่สัมผัสละมุนทั้งยังสวยงามตา รวมทั้ง “ทักษะการมัดหมี่เพื่อการทอแบบสองสอด” ที่ช่วยให้สามารถ สร้างสรรค์ลวดลายละเอียดของลายผ้าขนาดเล็กให้สวยงาม เช่น ลายปราสาทผึ้ง ลายนาคน้อย เป็นต้น
  2. การย้อมสีของท้องถิ่น ได้แก่ ความรู้ในการเลือกวัสดุย้อมสีธรรมชาติ จากครั่ง เข คราม การย้อมครามทับ สีเหลืองให้เกิดสีเขียว การย้อมครามทับสีแดงให้เกิดสีม่วง ความรู้ในการใช้ “สารติดสีธรรมชาติ” ที่มีค่าเป็นกรดและ มีค่าเป็นด่าง เป็นต้น
  3. การเลี้ยงไหม เมืองอุบลฯ มีทักษะในการสาวไหมได้คุณภาพสูงมาก จนได้รับรางวัลการประกวดเส้นไหมของ กรมหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ เกือบทุกปี เป็นความรู้ที่มีทั้งศาสตร์และศิลป์ในการป้องกันมลพิษ และแมลงที่เป็นอันตรายต่อหนอนไหม ความรู้ในการย่อยใบหม่อนเป็นอาหารแก่หนอนไหม ความรู้ในการกระจาย สัดส่วนหนอนไหมในจ่อเพื่อการสร้างรังไหมที่สมบูรณ์ ความรู้ในการคัดเลือกรังไหมที่สมบูรณ์ทักษะการสาวไหม การควบคุมอุณหภูมิหม้อสาวไหม เป็นต้น

ตามจารีตดั้งเดิมจะถือละเว้นการปฏิบัติที่เป็น “ขะลํา” (ผิดจารีต) ได้แก่

1) จะห้ามไม่ให้ผู้ชายทอผ้าหรือนั่งบน หูก/เครื่องทอผ้า

2) ในระหว่างที่ผู้หญิงทอผ้าหรือเข็นฝ้าย ฝ่ายผู้ชายจะมาแตะเนื้อต้องตัวไม่ได้ ถือว่าเป็น “ขะลำ” (ผิดจารีต) ต้องมีการปรับสินไหม

3) ในการย้อมผ้า ตามความเชื่อดั้งเดิม ในกรณีการย้อมสีครั่ง จะไม่ให้ผู้หญิงที่มี ประจําเดือนเข้าใกล้บริเวณ หรือเป็นผู้ย้อม เพราะสีจะด่างหรือเส้นไหมไม่กินสี/ติดสี ส่วนสีย้อมวัสดุอื่นๆ ไม่มีข้อห้าม

4) จะไม่ย้อมสีผ้าในวันพระ

5) จะไม่สาวไหมในพระ วันศีลอุโบสถ

6) การย้อมสีครามจะไม่ย้อมในวันข้างแรม

7) จะไม่ใช้ผ้าที่มีลวดลายเทียมเจ้านาย

นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อความศรัทธาในการใช้ผ้าของชาวเมืองอุบลฯ ได้แก่

1) การใช้ตีนซิ่นของแม่คล้องคอ ในยามที่ไปออกรบ

2) หญิงมีครรภ์จะนําผ้าซิ่นของแม่มาใช้นั่งในเวลาจะคลอดลูก

3) การใช้หัวซิ่นแช่น้ําให้ผู้หญิง ท้องแก่กินจะคลอดลูกง่าย

4) การใช้ตีนซิ่นแม่ตบปากเด็กน้อยจะได้พูดง่าย

กระบวนการจัดการองค์ความรู้

  1. การเรียนรู้สืบทอดภายในครอบครัวหรือสังคมระดับหมู่บ้านชุมชนพยายามสืบทอดไว้ในระบบเครือญาติ จากรุ่นสู่รุ่น ดั้งเดิมจะต้องเรียนรู้ทุกขั้นตอน เพื่อทําเองทุกขั้นตอนในการทอผ้า ตั้งแต่เลี้ยงไหม สาวไหม เตรียมเส้นใย ในการทอผ้า และทอผ้าเป็นผืน ปัจจุบันช่างทออาวุโสเป็นเสาหลักในการอบรมให้ความรู้แก่รุ่นลูกหลานในชุมชน
  2. การจัดการแหล่งผลิตชุมชนรักษาทักษะการทอผ้า ที่ช่วยสร้างรายได้เสริม มีการแบ่งงานกันโดยแยกทํา เป็นขั้นตอน เช่น ช่างที่เชี่ยวชาญการเตรียมเส้นไหม ช่างที่เชี่ยวชาญย้อมสีไหม ช่างที่เชี่ยวชาญการทอผ้ามัดหมี่ ช่างทอที่เชี่ยวชาญการทอ “ขิด” การทอ “จก” การทอ “ยก” เป็นต้น

ตัวอย่างผู้สืบทอดการทอผ้าเมืองอุบลฯ ที่สําคัญคือ บ้านคําปุน ซึ่งจัดงาน “นิทรรศการผ้าโบราณและสาธิต การทอผ้า แบบเมืองอุบลฯ” ช่วงเดือนกรกฎาคม ของทุกปี ในช่วงเทศกาลงานแห่เทียนเข้าพรรษา

คุณค่าของผ้าทอเมืองอุบลฯ ในอดีตยึดถือประเพณีที่หญิงสาวจะต้องมีฝีมือในการทอผ้า จึงจะมีคุณสมบัติ พร้อมในการที่เป็นแม่เรือนที่ดี หญิงสาวที่เรียนรู้การทอผ้าตั้งแต่เยาว์วัย จนสามารถทอสานลวดลายอันซับซ้อนของ ผ้าซิ่นมัดหมี่ ผ้าซิ่นทิว ผ้าซิ่นมุก ผ้าหัวซิ่นจกดาว ผ้าเยียรบับลาว และผ้าอื่นๆ ได้งดงาม จึงจะมีคุณสมบัติพร้อมใน การเป็นผู้หญิงและสมาชิกเครือญาติลูกหลานเจ้านายเมืองอุบลที่ดีของตนเอง

การถ่ายทอดความรู้และทักษะการทอผ้าทอเมืองอุบลฯ ปรากฏอยู่ 3 รูปแบบ คือ

1) ถ่ายทอดในครอบครัว ช่างทอผ้ารุ่นปัจจุบันอายุเฉลี่ยประมาณห้าสิบกว่าปี ได้เรียนรู้การทอผ้าจากแม่หรือยายตามแบบปฏิบัติดั้งเดิม

2) ถ่ายทอดในชุมชน ช่างทอผ้ารุ่นอายุประมาณสามสิบกว่าปี ได้เรียนการทอผ้าจากหัวหน้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ ทําผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือในจังหวัดอุบลราชธานี และ

3) ถ่ายทอดในระบบการศึกษา เยาวชนได้เรียนรู้การทอผ้าในระบบการศึกษาด้วยการบูรณาการเรียนรู้กับชุมชน โดยเชิญช่างทอผ้าที่เชี่ยวชาญในชุมชน ช่วยเป็นวิทยากร โดยมี การจัดการเรียนการสอนทอผ้าในจังหวัดอุบลราชธานีที่โรงเรียนม่วงสามสิบ อําเภอม่วงสามสิบ โรงเรียนบ้านหนองบ่ออำเภอเมือง เป็นต้น 

แหล่งผลิตผ้าทอเมืองอุบลฯ มีดังนี้

  1. บ้านคําปุน ตําบลในเมือง อําเภอวารินชําราบ จังหวัดอุบลราชธานี
  2. บ้านหนองบ่อ ตําบลหนองบ่อ อําเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 
  3. บ้านโนนสว่าง ตําบลโนนสว่าง อําเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี
  4. บ้านลาดสมดี ตําบลกุศกร อําเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี
  5. บ้านสมพรรัตน์ ตําบลสมพรรัตน์ อําเภอบุญฑริก จังหวัดอุบลราชธานี 
  6. บ้านปะอาว ตําบลปะอาว อําเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
  7. บ้านโนนสว่าง ตําบลโนนสว่าง อําเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี 
  8. อําเภอสําโรง จังหวัดอุบลราชธานี
  9. บ้านทุ่งนาเมือง ตําบลโพธิ์กลาง อําเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี 10. บ้านคันพะลาน ตําาบลนาตาล อําเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี
  10. บ้านโพนทราย อําเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
  11. บ้านนาชุม อําาเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี
  12. ตําบลจานลาน อ้าเภอพนา จังหวัด านาจเจริญ ผ้าทอเมืองอุบลฯได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติประจําปีพุทธศักราช 2557

เอกสารอ้างอิง
ณัฏฐภัทร จันทวิช และคณะ, ผ้าพื้นเมืองอีสาน, กรุงเทพฯ: สํานักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากรกระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๔๐.บําเพ็ญ ณ อุบล, เล่าเรื่อง เมืองอุบลราชธานี, อุบลราชธานี: มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, ๒๕๔๗สุนัย ณ อุบล และคณะ, ผ้ากับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ไท – ลาว สายเมืองอุบล, กรุงเทพฯ: รายงานการวิจัยสํานักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๓๗.เอี่ยมกมล จันทะประเทศ, สถานภาพเจ้านายพื้นเมืองอุบลราชธานี ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๒๕-๒๔๗๖. วิทยานิพนธ์ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ๒๕๓๘.

ขอบคุณแหล่งที่มา: มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ