เทคนิคภูมิปัญญาการทอผ้าไหมมัดหมี่

ภูมิปัญญาการทอผ้าไหมมัดหมี่

เป็นผ้าที่เกิดจากการทอโดยการสร้างลวดลายและย้อมสีเส้นไหมก่อนที่จะนำไปทอเป็นผืนผ้า การสร้างลวดลายบนผืนผ้าไหมมัดหมี่เกิดจากการมัดเส้นไหมให้เป็นเปลาะๆตามแบบลวดลายที่ต้องการ แล้วนำไปย้อมสี ลวดลายที่เกิดขี้นจากการซึมของสีไปตามส่วนของเส้นไหมส่วนที่ไม่ถูกมัดขณะย้อม ดังนั้นหากต้องมัดหมี่หลายสีก็ต้องทำการมัดย้อมสีหรือเรียกโอบหมี่ โดยมัดเส้นเชือกบริเวณส่วนที่ย้อมแล้วเพื่อรักษาสีที่ย้อมครั้งแรก ในส่วนที่ไม่ต้องการย้อมทับสีใหม่แล้วนำมาย้อมสีทับหลายครั้งเพื่อให้ได้ลวดลายสีสันตามต้องการ การมัดย้อมให้เกิดลวดลายสามารถทำได้ทั้งเส้นยืนและเส้นพุ่งแต่โดยส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะเป็นการมัดหมี่เส้นพุ่งโดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การทอผ้าไหมมัดหมี่แต่โบราณนิยมย้อมสีเส้นใหมจากวัสดุจากธรรมชาคิ เช่น สีแดงจากครั่ง สีเหลืองจากแก่นเข หรือเปลือกต้นประโฮด สีน้ำเงินจากคราม สีเขียวจากย้อมทับแก่นเขด้วยคราม ลวดลายมัดหมี่ส่วนใหญ่เป็นลวดลายที่สืบทอดกันมาแต่โบราณเป็นลวดลายที่มาจากธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ขนบธรรมเนียมประเพณี และความเชื่อ เช่น ลายดอกแก้ว ลายนาค ลายใบไผ่ ลายโคมห้า เป็นต้น

อุปกรณ์การทอผ้าไหมมัดหมี่ จะต้องมีการจัดเตรียมหาอุปกรณ์ในการทอผ้าให้เรียบร้อย ซึ่งประกอบด้วย

ขั้นตอนการทำผ้าไหมมัดหมี่เน้นการสร้างลวดลายและย้อมสีของเส้นไหมก่อนที่จะทอเป็นผืนผ้า โดยมีกระบวนการอันซับซ้อนดังต่อไปนี้:

การค้นหาเครือเส้นยืน

นำไจเส้นไหมยืนที่ลอกกาวและย้อมสีเรียบร้อยแล้ว มาสวมใส่เข้ากงเพื่อกรอเส้นไหมเข้าอัก นำอักที่กรอเส้นไหมแล้วไปทำการค้นเครือเส้นยืน หรือที่เรียกว่าการเดินเส้นยืนโดยอุปกรณ์มี่เรียกว่าหลักเฝือ เดินเส้นยืนเพื่อจัดเรียงเส้นไหมตามความกว้างของหน้าผ้าหรือขนาดของฟืม

การเตรียมฟืมทอผ้า

นำเส้นไหมยืนค้นเครือเสร็จเรียบร้อยเเล้วมาจัดเรียงร้อยเข้าฟันหวี แต่ละช่องทุกช่อง ช่องละ 2 เส้นร้อยเก็บตะกอแยกเส้นยืน ขึงเส้นด้ายให้ตึงเเละจัดเรียงเส้นด้ายให้เรียบร้อย โดยทั่วไปสำหรับฟืมที่เก็บตะกอไว้เเล้วจะใช้วิธีการสืบเครือหูดก โดยนำเส้นไหมยืนมาผูกต่อกับเส้นด้ายเดิมที่ได้เก็บตะกอฟืมไว้โดยทำการผูกต่อทีละเส้นตามลำดับจนครบทุกเส้น ม้วนเส้นยืนด้วยแผ่นไม้ จัดเรียงเส้นยืน ตะกอ เเละฟืมบนกี่ทอผ้าให้เรียบร้อย ทำการทอผ้า ลายขัดคั่นระหว่างรอยต่อกับชุดฟืมและตะกอเพื่อให้เส้นไหมตึง แน่น และแข็งแรง จากนั้นให้ใช้น้ำที่ได้ จากการบดข้าวเหนียวที่นึ่งแล้วหรือน้ำแป้งมันสำปะหลัง ทาให้ทั่วเส้นยืน ใช้น้ำพรมทั่วเส้นไหมใช้หวีเส้นยืน ปล่อยให้แห้งหมาดแล้ว เคลือบด้วยขี้ผึ้งหรือไขสัตว์ เพื่อให้เส้นยืนที่เตรียมไว้จะได้มีลักษณะเส้นกลม แข็งแรง และมีความลื่นทำให้ไม่แตกเป็นขนจากการเสียดสีกับช่องฟันฟืมเวลาทอผ้า

การเตรียมเส้นพุ่ง

การค้นหาเส้นพุ่ง นำเส้นไหมที่ลอกกาวแล้ว มาค้นเส้นพุ่งโดยใช้โฮงมัดหมี่แบบโบราณที่เป็นไม้มีหลัก 2 หลัก ขนาดของโฮงหมี่ จะสำพันธ์กับหน้ากว้างของผืนผ้า และขนาดของฟืมทอผ้า การค้นเส้นพุ่งแต่ละลายจะมีจำนวนไม่เท่ากันขึ้นอยูกับลาย เช่น ลายหมี่ข้อโบราณ ที่ประกอบด้วย ลายหมากจับ ลายขอ ลายขอเปีย ลายปราสาท จะมีจำนวนเท่ากับ 41 ลำ แต่ละลำมี 4 เส้น ทำการค้นเส้นพุ่งโดยการค้น 2 รอบต่อลำแต่ละลำทำไพคั่นไว้ที่บริเวณกึ่งกาลางของโองหมี่ เมื่อค้นเส้นพุ่งไปจนลำสุดท้าย ก็ให้ทำการค้นหมี่ย้อนถอยกลับมาสุดที่ลำที่หนึ่งการค้นครบ 1 รอบ คือ 1ขีน เมื่อทำการค้นหมี่เสร็จเรียบร้อยเเล้ว มัดหัวหมี่ทั้ง 2 ด้านตามลำที่ทำไพไว้ เพื่อเป็นการเเบ่งเรียงเส้นไหมแต่ละเส้นลำให้เป็นระเบียบ

การมัดลวดลาย

ทำการมัดลายตามที่ออกเเบบไว้ ในสมัยโบราณการมัดลายผ้าไหมมัดหมี่จะใช้เชือกจากกาบต้นกล้วย แต่ปัจจุบันการมัดลายหมี่จะใช้เชือกฟางเพื่อความสะดวกรวดเร็ว การมัดลายเริ่มต้นด้วยการมัดเก็บสีขาว ซึ่งในการมัดลายสามารถทำได้ 2 วิธี คือ การมัดลายทุกลายในหัวหมี่เดียวกัน หรือทำการมัดแยกแต่ละลายในแต่ละหัวหมี่ก็ได้มาต่อลายในขั้นตอนการทอผ้าหลังจากนั้นถอดเส้นไหมออกจากโฮงหมี่ นำไปย้อมสีตามที่กำหนดไว้โดยบริเวรที่มัดจะไม่ติดสี นำเส้นไหมไปใส่โฮงหมี่เหมือนเดิมเพื่อผึ่งให้เเห้งและมัดเพื่อโอบสีที่ย้อมไว้ จากนั้นนำไปย้อมซ้ำเพื่อให้เกิดสีใหม่นอกเหนือจากสีเต็มที่โอบไว้ หรือย้อมทับสีเดิมเพื่อให้เกิดสีใหม่ เช่นย้อมสีน้ำเงินทับบนสีเหลืองจะได้สีใหม่เป็นสีเขียว ย้อมสีแดงทับบนสีเหลืองจะได้สีใหม่เป็นสีส้ม เป็นต้น ทำการย้อมสีและมัดโอบเก็บสีที่ต้องการไว้เช่นนี้จนครบตามลวดลายและสีสีนตามที่ออกแบบไว้

การกรอเส้นเข้าหลอด

ให้นำหัวหมี่ที่แกะเชือกฟางออกเรียบร้อยแล้วใส่กง ทำการกรอเส้นไหมเข้าอัก จากนั้นจึงทำการปั่นเส้นไหมจากอักเข้าหลอดด้วยไน นำหลอดเส้นไหมไปร้อยเรียงใส่ในเชือกตามลำดับเพื่อให้การเรียงลวดลายถูกต้อง

การทอผ้าไหมมัดหมี่

นำหลอดด้ายไหมออกจากเชือกที่เรียงร้อยไว้มาที่ละหลอดตามลำดับ นำไปใส่ในกระสวยจากหลอดแรกจนถึงหลอดสุดท้าย ซึ่งต้องใช้ความละเอียดและพิธีพิถันในการทอมากเพื่อให้เกิดลวดลายและสีสันตรงกับที่มัดไว้

สรุป

การทอผ้าไหมมัดหมี่เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและต้องใช้ความชำนาญพิถันในทุกขั้นตอน แต่ว่าผลลัพธ์ที่ได้ คือผ้าไหมที่มีลวดลายและสีสันอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต่างเป็นส่วนสำคัญของศิลปะและวัฒนธรรมไทย ทั้งยังเป็นมรดกอันทรงคุณค่าของประเทศไทยที่ควรรักษาไว้ให้ชนรุ่นหลังสืบสานและเรียนรู้ต่อไป

ขอบคุณแหล่งที่มา: ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สุรินทร์

อ้างอิง:https://www.chobmai.com/b/111