การเตรียมการทอและการกำหนดโครงสร้างการทอ

เส้นด้ายเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการทอผ้า การเตรียมการทอและการกำหนดโครงสร้างการทอก็เป็นขั้นตอนสำคัญที่มีผลต่อคุณภาพและลักษณะของผ้าที่จะถูกผลิต บทความนี้จะช่วยให้คุณผู้อ่านเข้าใจถึงขั้นตอนเหล่านี้อย่างละเอียดมากขึ้น

การเตรียมการทอ

การเตรียมการทอจะแบ่งได้เป็น 3 ส่วน มีดังนี้

  1. การเตรียมเส้นด้ายพุ่ง: เส้นด้ายพุ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทอที่สำคัญ การเตรียมเส้นด้ายพุ่งเริ่มต้นด้วยการกรองเส้นด้ายผ่านหลอด เมื่อเส้นด้ายผ่านหลอดเรียบร้อยแล้วก็จะนำมาใส่กระสวยเพื่อให้พร้อมที่จะถูกนำเข้าสู่กระบวนการทอ
  2. การเตรียมด้ายยืน: การเตรียมด้ายยืนจะต้องจัดเรียงด้ายยืนบนหลักค้นกี่ โดยคำนวณจำนวนเส้นด้ายยืนตลอดหน้ากว้างและความยาวของผ้าที่ต้องการผลิต เป็นการวางแผนที่จะช่วยให้เส้นด้ายยืนถูกต้องและตรงกับการทอที่ต้องการ
  3. การสืบด้ายยืน: การสืบด้ายยืน เริ่มด้วยการนำเอาเครื่องเส้นยืนร้อยผ่านตะกอและฟันหวี จากนั้นยึดปลาย 2 ข้างของเส้นยืนที่แกนม้วนด้ายยืนและแกนม้วนผ้า แล้วยึดเส้นยืนให้ตึงเท่ากันสม่ำเสมอ เราจะใช้เส้นยืนเหล่านี้ในกระบวนการทอเพื่อสร้างผ้า

การกำหนดโครงสร้างการทอ

การกำหนดโครงสร้างการทอ คือ จังหวะการขัดสานกันของด้ายยืนและด้ายพุ่ง ทำให้เกิดเนื้อผ้าและลวดลายในเวลาเดียวกัน ซึ่งจำนวนแผงตะกอเป็นตัวกำหนดขนาดและความซับซ้อนของโครงสร้างลายทอ เรื่มตั้งแต่ 2 แผงตะกอขึ้นไป ยิ่งมีจำนวนแผงตะกอมากก็จะสามารถทอลวดลายที่มีขนาดใหญ่และมีความซับซ้อนสูง นอกจากนี้โครงสร้างการทอยังมีความสัมพันธ์กับแผนการร้อยตะกอและแผนการยกตะกอด้วย เนื่องจากเส้นยืนทุกเส้นที่อยู่ในแผงตะกอเดียวกันจะถูกยกขึ้นพร้อมกัน ดังนั้นการวางแผนการร้อยตะกอจึงสัมพันธ์กับการเหยียบเท้าเหยียบ เพื่อยกแผงตะกอขึ้นในตำแหน่งที่เส้นยืนทับกับเส้นพุ่ง ในแต่ละแนวเส้นพุ่งของโครงสร้างการทอ

ภาพจำลองหลักการทอบนกี่

(ส่วนล่างแสดงโครงสร้างการทอลายขัด ส่วนด้านบนแสดงแผนการร้อยตะกอ) เส้นยืนเส้นเล็กเลขคี่อยู่แผงตะกอที่ 1 เส้นเลขคู่อยู่ตะกอที่ 2

แผงการยกตะกอ แนวเส้นพุ่งเส้นเลขคี่ยกแผงตะกอที่ 1 แนวเส้นพุ่งเส้นเลขคู่ยกแผงตะกอที่ 2 ในส่วนบนจำลองการขัดสานของเส้นไหมยืนและพุ่งด้วยลายขัด 2 ตะกอ

การพล็อตลายโครงสร้างการทอ

คือ การกำหนดจังหวะการขัดสานกันของด้ายพุ่งและด้ายยืนด้วยการเขียนลักษณ์ลงในช่องตารางกราฟ กำหนดให้แถวในแนวตั้งคือเส้นยืนและแถวในแนวนอนคือเส้นพุ่ง แต่ละช่องตารางที่ด้ายยืนขัดสานกับด้ายพุ่ง ในตำแหน่งที่เส้นยืนทับเส้นพุ่งให้ระบายสีดำให้เต็มช่อง หรือทำเครื่่องหมายกากบาทลงในช่องตาราง ส่วนช่องตารางในตำแหน่งที่เส้นพุ่งทับเส้นยืน ไม่ต้องใส่สัญลักษณ์ ให้เว้นว่างไว้โดยให้เริ่มพล็อตลายตำแหน่งที่เส้นยืนทับเส้นพุ่งที่ช่องล่างซ้ายสุดพล็อตมาทางขวาจากล่างขึ้นบน

ตัวอย่างโครงสร้างการทอ

ตัวอย่างที่ 1: ในกรณีที่ใช้โครงสร้างการทอลายขัด โดยทอด้วย 2 ตะกอ การทอเส้นยืนขึ้นทับเส้นพุ่ง 1 เส้น และลงลอดใต้เส้นพุ่ง 1 เส้นทั้งในแนวเส้นยืนและเส้นพุ่ง ผ้าด้านหน้าจะเหมือนกับด้านหลัง

ตัวอย่างที่ 2: ในกรณีที่ต้องการลายสองแบบขั้น 3 ลง 1 เส้น โดยใช้ 4 ตะกอ ที่ด้านหน้าผ้าเส้นยืนขึ้นทับบนเส้นพุ่ง 3 เส้น และลงลอดใต้เส้นพุ่ง 1 เส้น จะทำให้เห็นเส้นยืนสีฟ้ามากกว่าเส้นพุ่งสีส้ม และในทางกลับกันที่ด้านหลังผ้าจะมีเส้นยืนสีส้มมากกว่าเส้นยืนสีฟ้า โดยที่จุดขัดเรียงทแยงต่อกันไปทางขวาหรือซ้ายตามลายที่ต้องการ

การจัดเรียงสีเส้นด้ายกับโครงสร้างการทอ

นอกจากลายที่เกิดจากโครงสร้างการทอแล้ว ยังสามารถสร้างลวดลายรูปร่างต่างๆด้วยปฎิสัมพันธ์ระหว่างการจัดเรียงสีเส้นด้ายกับโครงสร้างการทอ หรือที่เรียกว่า (Colour and Weave Effect) ลายทั้ง 4 ลายได้แก่ ลวดลายริ้วสีเส้นตรงในแนวนอนและลายรูปร่างเรขาคณิตรูปต่างๆ เกิดจากการโครงสร้างการทอลายขัดเหมือนกัน ต่างกันที่การจัดเรียงสีเส้นด้ายยืน (ดังในแถบสีด้านบน) และเส้นด้ายพุ่ง (ดังในแถบสีด้านซ้าย) ที่แตกต่างกัน 4 แบบ โดยที่ตำแหน่งสีในจุดที่ด้ายยืนทับด้ายพุ่ง และตำแหน่งสีในจุดที่ด้ายพุ่งทับด้ายยืน มาประกอบตัวรวมกันเป็นลายรูปร่างต่างๆ 4 แบบ

การเตรียมการทอและการกำหนดโครงสร้างการทอเป็นขั้นตอนสำคัญในกระบวนการผลิตผ้าทอ ด้วยความรอบคอบในขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยให้สามารถสร้างผ้าที่มีคุณภาพและลวดลายอันน่าทึ่งตามที่ต้องการได้

ขอบคุณแหล่งที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=ptGobDKBZZQ&list=PLWZhCdvwdU6f_Gbc9Z6Me7kxi_zCBs4CS&index=3