ผ้าชาวไทยภูเขา เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ในประเทศไทย

ผ้าชาวไทยภูเขา ความสง่างามของผ้าทอมือที่ทอสานมาจากประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชนเผ่าต่างๆในประเทศไทย ผ่านบทความนี้ คุณจะได้รู้จักกับประวัติศาสตร์ และศิลปะ รวมถึงกลวิธีการผลิต และลวดลายอันสวยงาม ด้วยการทราบเรื่องราวที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังผ้าแต่ละผืน ทางเราหวังว่ามันจะทำให้คุณรู้สึกถึงความน่ายินดีและความเป็นหนึ่งเดียวของชนชาติไทย

ผ้าชาวไทยภูเขา

ผ้าชาวไทยภูเขา ในขอบเขตประเทศไทยมีกลุ่มชนหลายชาติพันธุ์อยู่รวมกัน ทั้งที่เป็นกลุ่มใหญ่และกลุ่มขนาดเล็กที่กระจายอาศัยในพื้นที่เฉพาะ ชนเผ่าที่อาศัยตามพื้นที่ภูเขาและที่ราบสูงมีไม่น้อยกว่า ๒๐ จังหวัด จํานวนมากกว่า ๑๓ ชนเผ่า เช่น กะเหรี่ยง เมี่ยน (เย้า) ม้ง อาข่า ลีซู ลาหู่ (มูเซอ) ชนเผ่าต่าง ๆ เหล่านี้มีทั้งอาศัยอยู่ในพื้นที่ราบ เช่น ชนเผ่าล้อ กะเลอ ที่อยู่แถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ส่วนใหญ่เรามักนึกถึงชนเผ่าที่อยู่บนภูเขาสูง เนื่องจากมีธรรมเนียม ประเพณีรวมทั้งลักษณะ การแต่งกายและมีภูมิประเทศที่ยังมิได้ผสมกลมกลืนกันอย่างใกล้ชิด ยังคงเป็นกลุ่มที่รักษาวัฒนธรรมและดํารงรักษาวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของชนเผ่าและแตกต่างจากกลุ่มอื่น ๆ ได้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ แต่ละชนเผ่ายังมีเครื่องแต่งกายตลอดจนมีกระบวนการผลิตผ้าและเครื่องมืออุปกรณ์ที่แตกต่างกัน และแตกต่างจากชาติพันธุ์อื่น ๆ เช่น การใช้กี่หน้าแคบ (กี่เอว) การใช้เส้นใยกัญชงมาทอสานขัดเป็นผืนผ้า บางกลุ่มมีการมัดย้อมเส้นด้ายยืนก่อนทอผ้า มีวิธีเย็บ ปัก ปะผ้าด้วยลวดลายที่เป็นลักษณะเฉพาะของกลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลวดลายที่มีแนวคิดจากคติความเชื่อ วิถีชีวิตที่แตกต่างกัน สะท้อนประวัติความเป็นมาและภูมิปัญญาของแต่ละชนเผ่าซึ่งแม้จะดูคล้ายคลึงกัน แต่มีรูปแบบและรายละเอียดของลวดลายหรือวิธีการสร้างลวดลายที่ต่างกันและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เช่น ผ้าเขียนเทียนย้อมครามของชนเผ่าในภาคเหนือ คล้ายกับผ้าบาติกในภาคใต้ของไทย แต่วิธีการ เครื่องมือ และลวดลาย ล้วนต่างกันชัดเจน

ในที่นี้ จะกล่าวถึงเอกลักษณ์ลวดลายของผ้าทอพื้นบ้าน การตกแต่งลวดลายเครื่องแต่งกายประจําชนเผ่ารวม ๖ กลุ่มบนดอยสูง อย่างเช่น ชนเผ่าเมี่ยน (เย้า) ม้ง (แม้ว) ลาฮู (ลาหู่) (มูเซอ) อาข่า (อีก้อ) ลีซู (ลีซอ) จะกระจายอยู่ในภาคเหนือตอนบน

ชนเผ่ากะเหรี่ยง “สะกอ” (S’Kaw Karen) (จญ่า-กอ, ปง่า-เก่อ-หญอ, ปกา-กะ-ญอ) “โปว์” (Pwo Karen) (พล่ง, โผล่ว, โผล่ง (Phlong)) ชนเผ่ากะเหรี่ยงจะกระจายอยู่ตามตะเข็บในภาคเหนือตอนบนจรดภาคกลางตอนล่าง โดยเฉพาะกะเหรี่ยงในจังหวัดเพชรบุรีได้รับฉายาว่า “เป็นผู้พิทักษ์แนวตะเข็บตะนาวศรี”

ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ในประเทศไทย

ความต่างทางชาติพันธุ์ที่อยู่ในราชอาณาจักรสยามประเทศมาเป็นเวลาที่ยาวนาน ได้หล่อหลอมให้เป็นอารยธรรมนั้น เกิดจากการเลื่อนไหลตามกระแสของการปกครอง จนกลายเป็น “พหุทางวัฒนธรรม” ลวดลายที่ปรากฏบนผืนผ้า ย่อมถือว่าเป็นศิลปะที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์พื้นถิ่น ทําให้เกิดเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ ที่อนุรักษ์กรรมวิธีในการทอผ้าแบบดั้งเดิมเอาไว้ด้วยการผสมผสานลวดลายที่ทอจากมือของแม่บ้าน ความสวยงามของผ้าทอพื้นเมืองแต่ละผืนย่อมมีความแตกต่างกัน อย่างผ้าบางผืนซ่อนกรรมวิธีของการทอเอาไว้ในลวดลายหรือในขณะที่ทอผ้าอยู่ก็มี นี่จึงเป็นที่มาของเรื่องราวผ้าทางชาติพันธุ์