เทคนิคการเย็บปักแซวของชาวกูย

ชาวกูย

ในภาคอีสานของประเทศไทยนั้นมีภูมิปัญญาการปักผ้าที่มีความเป็นเอกลักษณ์ นั่นก็คือ งานเย็บปักของชาวกูยซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ใช้ภาษาในตระกูลออสโตรเอเชียติก (Austroasiatic language family) และมีรากฐานอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยปลายอยุธยา ชาวกูยมีหัวหน้าเป็นของตนเอง และคนไทยก็มักจะเรียกชาวกูยว่า “เขมรป่าดง” ส่วนชาวกูยจะเรียกตัวเองว่า “กุย กูย โกย หรือ กวย” ซึ่งมีความหมายว่า “คน” ส่วนคำว่า “ส่วย” ชาวกูยไม่นิยมชมชอบชื่อเรียกนี้

เทคนิคการเย็บปักแซวฮับ

แซวฮับ คือ เทคนิคการปักหรือการเย็บตะเข็บบนผ้าเป็นภาษาถิ่นของชาวกูยที่แปลว่า “การเย็บตะเข็บหรือปักผ้า” ซึ่งเป็นศิลปะที่เป็นมรดกของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกูย โดยเฉพาะกลุ่มที่สามารถสืบทอดภูมิปัญญาสิ่งทอเช่นนี้ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ที่บริเวณจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเรียกการเย็บเสื้อแบบนี้ว่า “แซวฮับ” (“แซว” แปลว่า การปัก “ฮับ” แปลว่า เสื้อ) ซึ่งเป็นเสื้อที่สวมใส่ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย และผู้สวมใส่จะใช้ “ก้อนเงินพดด้วง” ที่ล้ำค่ามาเย็บเป็นกระดุมเพื่อแสดงฐานะทางสังคม ซึ่งชาวกูยจะใช้เสื้อสีดำนี้ ทั้งในโอกาสงานมงคลและงานอวมงคล

วัสดุและลวดลายสีสัน

การเย็บปักแซวฮับ จะนำไหมทอเหยียบตะกอยกลายลูกแก้วที่ย้อมสีดำด้วยผลมะเกลือมาเย็บปักตกแต่งลวดลายบนผ้าด้วยไหมสีสด เช่น สีแดง สีเหลือง สีขาว ซึ่งเป็นโครงสีตัดกันกับเนื้อผ้าสีดำ ทําให้ได้ข้อสังเกตว่าเส้นไหมสีสดนั้น ช่วยถนอมสายตาเพราะสามารถมองเห็นได้ชัดเจนเวลาปักลงบนผ้าไหมพื้นสีดํา นอกจากนี้ผ้าสีดําย้อมมะเกลือยังมีคุณสมบัติในการป้องกันแสง UV ซึ่งช่วยถนอมผิวหนังของผู้สวมใส่จากอันตรายของแสงแดด

เอกลักษณ์ของการปักแซวของชาวกูย

เทคนิคการปักแซวของชาวกูย มีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจอย่างมาก นั่นก็คือการใช้การสานไขว้ระหว่างตะเข็บเสื้อ ทำให้มีลมสามารถลอดผ่านตะเข็บเสื้อได้และให้ความรู้สึกเย็นสบายอยู่ตลอดเวลาที่สวมใส่เสื้อ ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของเทคนิคการแซว มีได้แก่ “ลายยึงกะเฮบ” (ลายตีนตะขาบ) ลายซอยตะกอด (ลายหางตะกวด) และ “ลายหยืงตรอง” (ลายขามดแดง) นอกจากนี้ยังมีลวดลายประยุกต์ อย่าง ลายดอกมะลิ ซึ่งเพิ่มความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของงานปักแซวของชาวกูย

ขอบคุณแหล่งที่มา:หนังสือมรดกภูมิปัญญา สิ่งทออีสาน
เรื่อง/ภาพ: อรอุมา ศิลป์วัฒนานุกุล

อ้างอิง:https://www.chobmai.com/article/125/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B9%87%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B9%E0%B8%A2