เทคนิคการสร้างลวดลายผ้าในวัฒนธรรมไทย

การสร้างลวดลายบนผ้าเป็นศิลปะและวิชาชีพที่มีประวัติและความเป็นมาหลายพันปีในวัฒนธรรมไทย มีเทคนิคและวิธีการที่หลากหลายที่ช่วยให้เกิดลวดลายอันสวยงามและยังมีความเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น ในบทความนี้ร้านชอบไหมเผยเทคนิคการสร้างลวดลายผ้าในวัฒนธรรมไทยและแนวทางที่สามารถใช้ในการสร้างลวดลายผ้า

เทคนิคการสร้างลวดลายให้เกิดรูปทรงที่ชัดเจน ที่ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงเรขาคณิตหรือรูปทรงอิสระ แบ่งได้เป็น 4 เทคนิค ดังนี้

เทคนิคที่ 1: ยกดอก “ลวดลายมาพร้อมกับเนื้อผ้า”

ยกดอกเป็นการทำให้เกิดลวดลายและเนื้อผ้าไปพร้อมกันขณะทอโดยการใช้ได้ยืนและได้พุ่งชุดเดียวกัน พอสร้างลวดลายด้วยโครงสร้างการทอที่กำหนดการยกลายด้วยตะกอ 3 ถึง 8 ตะกอ เนื่องจากเป็นเทคนิคการทอขั้นพื้นฐานจึงมีการใช้กันอยู่ทั่วไป

เทคนิคที่ 2: เกาะ/ล้วง “ระนาบสีบนลายขัด”

เกาะ/ล้วงเป็นการทำให้เกิดลวดลายระหว่างการทอ โดยการสอดด้ายพุ่งหลากหลายสีติดต่อกันเป็นช่วงๆ ตลอดหน้ากว้างผ้า ขณะแยกยกตะกอเพื่อทอโครงสร้างลายขัดตรงตำแหน่งที่ได้พุ่งต่างสีมาเชื่อมต่อกัน ด้วยการคล้องเกี่ยวกันเองหรือพันรอบ หรือผูกเป็นห่วง รอบเส้นยืนตรงบริเวณขอบลวดลาย ชาวไทลื้อใช้เทคนิคการทอเกาะ/ล้วงในการสร้างลวดลายที่มีลักษณะเป็นระนาบเรขาคณิตหลากหลายสี อย่างเช่น ลายน้ำไหล หรือลายรูปเรขาคณิตที่ตีนซิ่น

เทคนิคที่ 3 การเสริมด้ายพุ่งพิเศษ (Welft Supplementary) “เสมือนเป็นลายปักบนพื้นผ้าลายขัด”

เทคนิคนี้แบ่งเป็น 2 แบบ คือ การขิดและการจก การจกและการขิดต่างเป็นการสร้างลวดลายโดยการเพิ่มด้ายพุ่งพิเศษระหว่างการทอ ด้ายพุ่งพิเศษที่ใช้สร้างลวดลายพุ่งสลับกับด้ายพุ่งที่ใช้สร้างเนื้อผ้าด้วยโครงสร้างการทอลายขัด 2 ตะกอ ทีละ 1 แนวเส้นพุ่งสลับกันไป ลวดลายที่ได้เสมือนเป็นลายปักบนพื้นผ้าลายขัด ดังนั้นหากดึงด้ายพุ่งพิเศษออกบางเส้นจะส่งผลให้บางส่วนของลายหายไป แต่เนื้อผ้ายังคงขัดสานกันแบบขึ้น 1 เส้นลง 1 เส้นตามปกติของลายขัด ใช้สร้างลวดลายขนาดใหญ่จนถึงขนาดเล็กและมีรายละเอียดที่ซับซ้อน

  • ขิด คือ การทำให้เกิดลวดลายโดยการเพิ่มด้ายพุ่งพิเศษตลอดหน้ากว้างผ้า โดยที่ลวดลายขิดจะถูกพับเก็บไว้บนไม้เก็บลายบนเครือเส้นยืนหรือในชุดตะกอลอย หรือในชุดตะกอแขวนตามตั้งที่บรรจุไม้ค้ำ หรือไม้เก็บลาย ซึ่งแต่ละไม้ทำหน้าที่ควบคุมการยกเส้นยืนตามลวดลายในแต่ละแนวเส้นพุ่ง หรืออีกนัยหนึ่งคือไม้เก็บลายเป็นตัวกำหนดจังหวะการขึ้น – ลงของเส้นยืนในแต่ละแนวเส้นพุ่ง เรียงลำดับจากแนวเส้นพุ่งเส้นที่ 1 จนถึงเส้นพุ่งเส้นสุดท้ายเป็นอันครบรีพีท (Repeat) ลาย พอต่อเนื่องรีพีทลายต่อรีพีทลายจนได้ความยาวผ้าที่ต้องการ ดังนั้นการทอขิดจึงประกอบด้วยตะกอ 2 ชุด คือ ตะกอลายขัด 2 ตะกอและชุดตะกอลายขิด ทอ 1 เส้นพุ่งลายขิดสลับกับ 1 เส้นพุ่งลายขัด ชาวไทยลาวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใช้เทคนิคการขิดสร้างลวดลายบนผ้าเบี่ยง ผ้าสไบ ผ้าซิ่น และหมอนขิด

  • จก คือ การทำให้เกิดลวดลายโดยการเพิ่มด้ายพุ่งพิเศษตามจังหวะลายเป็นช่วงๆ ไม่ติดต่อกันตลอดหน้าผ้าโดยการใช้ขนเม่น แถบไม้ไผ่บางๆ หรือนิ้วมือ คัดนับจำนวนเส้นยืนเส้นที่จะถูกยกขึ้นตามลวดลายในแต่ละแนวเส้นพุ่งเพื่อสอดเส้นพุ่งต่างสีเข้าไปขัดสานในบริเวณพื้นที่ลายที่กำหนด การจกต้องใช้ทักษะ ความชำนาญและเวลาในการทอ เป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อกันมาของชาติพันธุ์ไทยวน ไทลื้อ ลาวพวนและผู้ไท นิยมใช้เทคนิคการจกสร้างลวดลายบนผ้าซิ่นตีนจก

เทคนิคที่ 4 มัดหมี่ “การสร้างลวดลายบนเส้นด้ายด้วยสีย้อมก่อนนำมาทอ”

มัดหมี่ (Ikat) เป็นการทำให้เกิดลวดลายบนเส้นด้ายด้วยสีย้อมก่อนการทอ โดยการมัดเส้นด้ายด้วยเชือกกล้วยหรือเชือกพลาสติกตามลวดลาย สลับกับการย้อมสีพื้นที่ลายส่วนที่ถูกมัดเก็บปลายไว้จะไม่ติดสีย้อม ทำการมัดและย้อมสีทีละสีจนครบตามจำนวนสีที่ต้องการ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ มัดหมี่เส้นยืน มัดหมี่เส้นพุ่ง และมัดหมี่สองทางทั้งเส้นยืนและเส้นพุ่ง ลวดลายจากการมัดหมี่มีลักษณะเฉพาะคือ เส้นขอบลายไม่คมชัดเนื่องจากการเหลื่อมการของเส้นด้ายขณะทอ เห็นเป็นเส้นสายฝนโดยรอบระนาบสีแต่ละสี และการซึมซับผสมกันของสีบริเวณรอยต่อของลาย ช่วยทำให้โครงสีโดยรวมดูกลมกลืนขึ้น โครงสร้างการทอผ้ามัดหมี่ที่นิยมทอด้วยลายขัด ส่งผลให้ลวดลายปรากฏชัดเจนเท่ากันทั้งหน้าและหลังผ้า

สรุป

การสร้างลวดลายบนผ้าในวัฒนธรรมไทยมีเทคนิคและวิธีการที่หลากหลาย แต่ละเทคนิคมีความเป็นเอกลักษณ์และสร้างผลลัพธ์ที่น่าทึ่งในลวดลายผ้า ซึ่งการทอเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมไทยและเป็นศิลปะที่มีประวัติและความเป็นมาที่ยาวนาน อีกทั้งการสร้างลวดลายผ้าไม่เพียงแต่เป็นการสร้างสรรค์ลวดลายอันสวยงามและน่าทึ่งเท่านั้น แต่ยังเป็นการถ่ายทอดประเพณีและวัฒนธรรมของชุมชนและสร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่นอีกด้วย

ขอบคุณแหล่งที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=ptGobDKBZZQ&list=PLWZhCdvwdU6f_Gbc9Z6Me7kxi_zCBs4CS&index=3