ผ้าสาเกตแห่งเมืองร้อยเอ็ด

ผ้าสาเกตเป็นผลงานทอผ้าไหมที่เป็นเอกลักษณ์และมีความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของจังหวัดร้อยเอ็ดในภาคอีสานของประเทศไทย ในบทความนี้เราจะให้คุณผู้อ่านค้นพบเรื่องราวประวัติของผ้าสาเกต รวมถึงลวดลาย เทคนิคการทอ และการนำไปใช้ประโยชน์

ประวัติผ้าสาเกต

สาเกตนครเป็นชื่อของเมืองร้อยเอ็ดในอดีต ตั้งอยู่กึ่งกลางของภาคอีสานมานานกว่า 200 ปี มีความอุดมสมบูรณ์และเจริญรุ่งเรืองมาก มีลุ่มแม่น้ำไหลผ่านหลายสาย เช่น แม่น้ำชี แม่น้ำยัง ลำน้ำเสียว ลำน้ำพลับ เพลา ลำน้ำเตา และแม่น้ำมูล จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้พื้นดินของเมืองร้อยเอ็ดมีความชุ่มชื้น อุดมสมบูรณ์เหมาะต่อการทำเกษตรกรรม ประชากรส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำนาเป็นอาชีพหลัก ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอาชีพเสริม มีการสืบทอดวัฒนธรรมการทอผ้ามาจากบรรพบุรุษในอดีตจนถึงปัจจุบัน

ผ้าไหมที่พบส่วนมาก

ผ้าไหมที่พบในจังหวัดร้อยเอ็ดส่วนมากเป็น ผ้าซิ่น ผ้าโสร่ง สไบ ผ้าพื้น ผ้าขาวม้า และผ้าปูม ผ้าซิ่นไหมส่วนมากจะสวมใส่ในโอกาสสำคัญหรือในงานประเพณีต่างๆ เช่น ประเพณีบุญผะเหวด บุญกฐิน งานสมรสเป็นต้น โดยเฉพาะผ้าไหมมัดหมี่ถือเป็นเครื่องแต่งกายที่มีลวดลายอันสวยงาม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สืบทอดมาตั้งแต่โบราณ เช่น ลายขอลายหมากจับ ลายนาคน้อย ลายคองเอี้ย ลายโคมห้า ลายโคมเจ็ดลายโคมเก้า เป็นต้น ซึ่งแต่ละลายเป็นลายผ้าไหมมัดหมี่โบราณที่แยกกันอยู่ในแต่ละผืนผ้า ต่อมามีการนำลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ในแต่ละท้องถิ่นมาประยุกต์ไว้ในผืนผ้าเดียวกันและให้ชื่อว่า “ผ้าสาเกต”

ลักษณะของผ้าสาเกต

ผ้าสาเกต เป็นผ้าไหมที่ประกอบด้วยลายผ้ามัดหมี่พื้นบ้าน 5 ลายที่มีอัตลักษณ์ของกลุ่มชนที่อยู่ในเมืองร้อยเอ็ด โดยนำมาทอต่อกันในผ้าผืนเดียว เปรียบเสมือนเป็นการหลอมรวมความสามัคคีของชาวร้อยเอ็ดให้เป็นหนึ่ง โดยแต่ละลายจะทอคั่นด้วยผ้าสีพื้นสีดอกอินทนิลบก (สีชมพูอมม่วง) ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด ลายมัดหมี่พื้นบ้าน 5 ลายที่ประกอบในผ้าสาเกต ได้แก่ ลายโคมเจ็ด ลายนาคน้อย ลายคองเอี้ย ลาย หมากจับ ลายค้ำเพา และได้มีการประกาศให้ผ้าสาเกตเป็นผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2544

ลวดลายและวิธีการทอ

ผ้าสาเกตเป็นผ้าไหมมัดหมี่ประกอบด้วยลวดลายมัดหมี่พื้นบ้าน 5 ลาย ได้แก่

  • ลายโคมเจ็ด หมายถึง โคมไฟส่องสว่างสู่ความรุ่งเรือง ความอุดมสมบูรณ์ ความเพิ่มพูนของผลผลิต ตลอดถึงการอยู่ดีกินดีของชาวร้อยเอ็ด
  • ลายนาคน้อย หมายถึง ลายนาคพ่นน้ำ เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ชุ่มชื้น ฝนตกต้องตามฤดูกาลยังความอุดมสมบูรณ์แก่ไร่นา จะต้องให้ลายนาคน้อยอยู่ตรงกลางและลวดลายเหล่านี้จะคั่นด้วยผ้าพื้นสีดอกอินทนิลบก (สีชมพู อมม่วง)
  • ลายคองเอี้ย หมายถึง ลักษณะของสายน้ำที่เอื้ออำนวยต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของชาวร้อยเอ็ด
  • ลายหมากจับ (หมากจับเป็นชื่อพืชชนิดหนึ่ง) หมายถึง ความประทับใจ (จับจิตจับใจ) เมื่อใครได้มาพบเห็นความมีน้ำใจของชาวร้อยเอ็ดแล้วอยากจะไปมาหาสู่ตลอดไป
  • ลายค้ำเพา เป็นลายเส้นตรงประกอบด้วยเส้นสองเส้น หมายถึง ความซื่อตรงมุ่งมั่น เข้มแข็ง คงทน ความยั่งยืนแห่งมิตรภาพของชาวร้อยเอ็ด

ทั้ง 5 ลายนี้ถูกทอในผ้าสีดอกอินทนิลบก (สีชมพูอมม่วง) ที่มีความหมายเฉพาะเจาะจงและเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดร้อยเอ็ด และอีกทั้ง 5 ลายนี้จะมีขนาดใดก็ได้ แต่การทอทั้งนี้จังหวัดร้อยเอ็ดได้มีการกำหนดมาตรฐานผ้าสาเกตไว้ดังนี้ ลายผ้า การเริ่มต้นทอ เริ่มจากลายโคมเจ็ด ลายนาคน้อย ลายคองเอี้ย ลายค้ำเพา และลายหมากจับ ลายนาคน้อยต้องมีตัวนาค 12 ตัว ตัวหมากจับให้ยึดแบบเดิม คือ 3 ลำ

  • ความหนา: มาตรฐานผ้าสาเกตร้อยเอ็ดใช้ฟืมขนาด 42 นิ้ว
  • สีผ้า: สีประจำจังหวัดร้อยเอ็ด คือ สีดอกอินทนิลบก (สีชมพู อมม่วง) โดยสีที่ใช้ต้องมีคุณภาพดี สีไม่ตก
  • ช่องไฟของลาย: ลายพื้นเท่ากับ 1.5 เซนติเมตร
  • ขนาดผ้ามาตรฐาน: หน้ากว้าง 1 เมตร ยาว 4 เมตร

การนำไปใช้ประโยชน์

ผ้าสาเกตมีความสำคัญในชุมชนของร้อยเอ็ดและได้รับการนำไปใช้ในหลายๆ รายการและงานประเพณี เช่น ประเพณีบุญผะเหวด บุญกฐิน และงานสมรส ผ้าสาเกตไม่เพียงเสริมสร้างความสวยงามและสุขสันต์ในงานสำคัญเท่านั้น แต่ยังสื่อถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาวร้อยเอ็ดอีกด้วย

สรุป

ผ้าสาเกตเป็นผลงานทอผ้าไหมที่มีลวดลายและความหมายเฉพาะตัว เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของจังหวัดร้อยเอ็ด การนำไปใช้ประโยชน์ในชุมชนและการสืบทอดวัฒนธรรมทางการทอผ้านี้ยังเป็นสิ่งที่สำคัญในการรักษาและส่งต่อทรัพยากรวัตถุดิบและศิลปะแห่งร้อยเอ็ดให้รุ่งเรืองไปต่อ

ขอบคุณแห่งที่มา: ภูมิปัญญาผ้าไหมไทย

อ้างอิง: https://www.chobmai.com/article/155/%E0%B8%9C%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%95