ผ้าซิ่นตีนแดง ถือเป็นอัญมณีแห่งวัฒนธรรมภูมิภาคอีสานในประเทศไทยที่มีความเป็นเอกลักษณ์และน่าอัศจรรย์ ด้วยลวดลายและสีสันที่ดูโดดเด่นสะดุดตาอันเกิดจากการผสมผสานวัฒนธรรมหลายแบบของพื้นที่อีสานตอนล่าง ในบทความนี้เราจะศึกษาเรื่องราวและเทคนิคการทอของผ้าซิ่นตีนแดงของชาวอีสาน
ผ้าซิ่นตีนแดง
ผ้าซิ่นตีนแดง คือลวดลายของจังหวัดบุรีรัมย์ ที่พยายามสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยเทคนิคการแยกเครือสีแดงมาใช้สำหรับส่วนตีนซิ่น ซึ่งต่อมาได้ประยุกต์ใช้เครือสีแดงในส่วนขอบผ้าทั้งส่วนตีนซิ่นและส่วนต่อส่วนเอวซิ่น โดยส่วนกลางตัวซิ่นจะใช้เครือสีครามเข้มหรือสีดำ โดยใช้เส้นยืนสีขาวหนึ่งเส้นตั้งเป็นเส้นแบ่งเขตรอยต่อ
ลักษณะสีสันของซิ่นตีนแดง
ผ้าซิ่นตีนแดง มีลักษณะลวดลายสีสันที่น่าจะเป็นการผสมผสานหลายวัฒนธรรมในบริเวณอีสานตอนล่าง สีโทนแดงที่สัมพันธ์กับสีสันผ้ามัดหมี่โฮลประโบลของชาวไทยเชื้อสายกูยและเชื้อสายเขมร ส่วนลวดลายมัดหมี่กลับนิยมใช้ลายที่มีสัญลักษณ์ร่วมกับชาวไทย-ลาว
เทคนิคการทอผ้า
ในการทอผ้าซิ่นตีนแดงจะนิยมทอเสริมลวดลายด้วยเทคนิคการ “ขิด” ที่เป็นการเสริมเส้นพุ่งพิเศษแบบต่อเนื่อง และการ “จก” ที่เป็นการเสริมเส้นพุ่งพิเศษแบบไม่ต่อเนื่อง ในส่วนรอยต่อเครือสีแดงและเครือสีครามเข้มหรือสีดำ และทอเสริมลายในส่วนเชิงตีนซิ่นให้สวยงาม
เปรียบเทียบผ้าซิ่นโฮล
จากการเปรียบเทียบผ้าซิ่นตีนแดงน่าจะเป็นการปรับประยุกต์เทคนิคการทอผ้า ที่สามารถสร้างลวดลายตีนซิ่นคล้ายลายประโบลและเสลิกได้ง่ายขึ้นกว่าการทอแยกชิ้นแล้วนำมาเย็บประกอบกับส่วนตัวซิ่น ซึ่งน่าจะทอขึ้นในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เพราะพบตัวอย่างผ้าโบราณที่อายุนับ 100 ปี เป็นการทอแยกชิ้นระหว่างส่วนตัวซิ่นและส่วนตีนซิ่น แล้วจึงนำมาเย็บประกอบกันเป็นผ้าซิ่น
ลวดลายผ้าซิ่นตีนแดง
ลวดลายผ้าซิ่นตีนแดงส่วนใหญ่จะนิยมทอลายพันธุ์พฤกษาด้วยโครงสร้างลายผ้ามัดหมี่แบบหมี่รวดหรือหมี่ร่าย แต่ไม่พบโครงสร้างลายแบบหมี่คั่น
ขอบคุณแหล่งที่มา:หนังสือมรดกภูมิปัญญา สิ่งทออีสาน