ลวดลายผ้าจก (ผ้าแพรวา ผ้าแพรมน ผ้าตุ๊ม)

เมื่อพูดถึงภูมิภาคผ้าทออีสานของประเทศไทย หลายคนอาจจะคุ้นชื่อผ้าแพรวาหรือผ้าจกที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย ซึ่งในบทความนี้เองเราจะมานำเสนอเรื่องราวของผ้าจกหรือทอผ้าแพรวาที่เป็นมรดกภูมิปัญญาของภาคอีสาน

ผ้าไหมแพรวา

ผ้าไหมแพรวา คือมรดกลวดลายผ้าในภาคอีสานที่ได้รับยกย่องว่าเป็นราชินีแห่งไหมไทย ของคนบ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ต่อมาได้มีการกระจายเทคนิคการทอผ้าออกไปในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง และจากการวิเคราะห์ตัวอย่างผ้าโบราณ ช่างทอผ้าชาวภูไทใช้เทคนิคการทอผ้าแพรวาด้วยการ “จก” ซึ่งในอดีตทอลวดลายด้วยโครงสร้างลายที่ไม่เหมือนกันตลอดแนวระนาบเดียวกัน แต่ในปัจจุบันปรับเปลี่ยนลายทอเพื่อให้สามารถนำไปใช้ตัดเสื้อผ้าได้

ลวดลายผ้าแพรวา

ดั้งเดิมผ้าแพรวาหนึ่งผืนมักจะประกอบด้วยลายหลัก 9-13 ลาย มีลายคั่นระหว่างลายหลักและจบด้วยลายเชิง โดยดั้งเดิมจะนิยมทอลายหลักไม่ซ้ำกันและใช้สีสันเครือเส้นยืนสีแดง แล้วทอ “จก” เสริมเส้นด้ายพุ่งพิเศษด้วยสีเหลือง สีคราม สีเขียว และสีขาว ซึ่งมรดกลวดลายผ้าดั้งเดิม มีดังนี้ ลายพันมหา ลายใบอุ่น ลายกาบแบต ลายหางปลาวา ลายแมงกะเบ้อ(ผีเสื้อ) ลายก้ามปู ลายดอกฮูดัง (จมูก) ลายดอกส้าน ลายดอกดาวหว่าน ลายดอกแล้ว ลายปีกดอกขวา ลายดอกแก้ว ลายตาบัง ลายดอกผักแว่น ลายม้า ลายช้าง ลายมอม ลายนาค ฯลฯ

ผ้าแพรมนและผ้าตุ้ม

  • ผ้าแพรมน คือผ้าที่มีขนาดสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้เป็นผ้าเอกประสงค์และพันตกแต่งศีรษะในงานพิธีกรรมสำหรับฝ่ายหญิง
  • ผ้าตุ๊ม คือ ผ้าที่ทอผสมระหว่างการ “จก” ตกแต่งส่วนเชิงผ้า และทอด้วยการ “ขิด” ในส่วนท้องผ้า และฝ่ายชายจะใช้ผ้านี้ในงานพิธีกรรม สำหรับคำว่าตุ๊ม ก็หมายถึงการห่มไหล่

ความแตกต่างของเทคนิคจกและเทคนิคขิด

  • เทคนิคจก คือ การเสริมเส้นพุ่งพิเศษแบบไม่ต่อเนื่อง
  • เทคนิคขิค คือ การเสริมเส้นพุ่งพิเศษแบบต่อเนื่อง

ขอบคุณแหล่งที่มา:หนังสือมรดกภูมิปัญญา สิ่งทออีสาน

อ้างอิง:https://www.chobmai.com/article/137/%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%9C%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%81-%E0%B8%9C%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B2-%E0%B8%9C%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%99-%E0%B8%9C%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%A1