ผ้าจกเมืองลอง ผ้าซิ่นโบราณจากอาณาจักรล้านนา ในบทความเราจะพาคุณผู้อ่านไปพบกับประวัติของผ้าจกเมืองลองรวมถึงลวดลายและเทคนิคการทอ
ประวัติผ้าจกเมืองลอง
เมืองลองเป็นชุมชนโบราณและเป็นเมืองหน้าด่านสําคัญเมืองหนึ่งทางทิศใต้ของอาณาจักรล้านนา ในยุคนั้นมีชื่อเรียกว่าเมืองเชียงชื่น ภายหลังอาณาจักรล้านนาตกเป็นประเทศราชของอยุธยาพระบรมไตรโลกนาถกษัตริย์อยุธยา ในสมัยสมเด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมือง ลองได้กลายเป็นเมืองขึ้นของนครลําปางจนกระทั่งปีพุทธศักราช 2474 จึงได้โอนเป็นอําเภอหนึ่งในจังหวัดแพร่
เมืองลองในอดีตเป็นเมืองของชาวไทยยวนหรือชาวไทยโยนก ที่มีวัฒนธรรมการแต่งกายและศิลปะในการทอผ้าในรูปแบบของตนเอง ผู้หญิงไทยวนนิยมแต่งกายด้วยผ้าซิ่น โดยวัสดุที่ใช้ในการทอมีทั้งที่เป็นฝ้ายไหม ดิ้นเงิน และดิ้นทอง ผ้าจกเมืองลองเป็นผ้าทอที่มีลวดลายและสีที่งดงาม ในอดีตส่วนใหญ่เป็นการทอเพื่อนำมาต่อกับผ้าถุงหรือที่ชาวบ้านภาคเหนือเรียกว่า “ซิ่น” ทำเป็นเชิงผ้าถุงหรือตีนซิ่น ผ้าซิ่นที่ต่อเชิงด้วยผ้าทอตีนจก จึงมีชื่อเรียกว่า “ซิ่นตีนจก” ซึ่งมีความสวยงามแสดงถึงฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้สวมใส่ หลักฐานการใช้ผ้าทอตีนจกเมืองลองในการแต่งกายของชาวเมืองลองปรากฏมานานนับร้อยปี จากภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดเวียงต้า ตำบลเวียงต้า อำเภอลอง เป็นภาพวิถีชีวิตความเชื่อการแต่งกายของชาวบ้านเวียงต้า ซึ่งเป็นคนเมืองลองในยุคนั้นพบภาพสตรีนุ่งซิ่นตีนจกลวดลายโบราณ
คำว่า “จก” และลวดลายของผ้า
“จก” หมายถึงการควัก ขุด คุ้ย ลักษณะการทอผ้าจกจึงเป็นลักษณะของการทอที่ผู้ทอต้องใช้วิธีล้วงดึงเส้นด้ายพุ่งพิเศษขึ้นลงเพื่อสร้างลวดลาย จกเป็นเทคนิคการทำลวดลายบนผืนผ้าคล้ายการปักด้วยวิธีการเพิ่มด้ายพุ่งพิเศษเข้าไปเป็นช่วงๆ ไม่ติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผ้า โดยใช้ไม้หรือขนเม่นหรือนิ้วมือจกเส้นด้ายเส้นยืนยกหรือจกเส้นด้ายเส้นยืนขึ้น แล้วสอดใส่ด้ายพุ่งพิเศษเข้าไปเป็นช่วงๆ สลับสีตามต้องการคล้ายกับการปักไปในขณะทอ ซึ่งสามารถออกแบบลวดลายและสีสันของผ้าได้ซับซ้อนและหลากสีสัน ซึ่งแตกต่างจากผ้าขิดที่มีการใช้เส้นพุ่งพิเศษสีเดียวตลอดหน้ากว้างของผืนผ้า การทอผ้าจกในอดีตนิยมทอเพียงไม่กี่ลายในผืนผ้าจกผืนเดียวกัน อย่างมากก็เพียง 4 แถว โดยลวดลายได้ถูกจัดไว้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
- ลายหลัก: ลายหลักของผ้าจกเมืองลองมีทั้งลักษณะลายดอกและลักษณะที่เป็นลายต่อเนื่อง ลักษณะลายดอกของผ้าจกเมืองลองมีลายที่เป็นลวดลายโบราณ ได้แก่ ลายนกคู่กินน้ำร่วมต้น ลายสำเภาลอยน้ำ ลายนกแยงเงา (นกส่องกระจก) ลายขามดแดง ลายขากำปุ้ง ลายขอไล่ ลายหม่าขนัด (สับปะรด) ลายจันแปดกลีบ ลายดอกจัน ลายขอดาว ลายขอผักกูด และลายดอกขอ ลักษณะลวดลายหลักที่เป็นลายต่อเนื่องของผ้าจกเมืองลองมีลายที่เป็นลายโบราณ ได้แก่ ลายใบผักแว่น ลายแมงโป้งเล็น ลายโคมช่อน้อยตุงชัย ลายขอน้ำคุจันแปดกลีบ ลายเครือกาบหมาก ลายโก้งเก้งซ้อนนก และลายพุ่มดอกนกกินน้ำร่วมต้น
- ลายประกอบ: ลายประกอบเป็นลายขนาดเล็กหรือลายย่อยอื่นๆ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ผ้าตีนจกมีความสมบูรณ์ รูปแบบลวดลายมาจากพืช สัตว์ และประยุกต์จากรูปทรงเรขาคณิต เช่น ลายกาบหมาก ลายสร้อยพร้าว ลายบัวคว่ำบัวหงาย ลายดอกพิกุลจัน ลายนกคุ้ม ลายขามด ลายฟันปลา ลายขอไล่ ลายเครือขอ ลายมะลิเลื้อย ลายเถาไม้เลื้อย ลายผีเสื้อ เป็นต้น
ลักษณะผ้าซิ่นตีนจก
ซิ่นตีนจกเมืองลองมีลักษณะเด่นแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ หัวซิ่น ตัวซิ่น และตีนซิ่น หัวซิ่นใช้ผ้าขาวและแดงต่อกัน ตัวซิ่นเป็นการสร้างลายโดยเส้นยืน ทำให้เกิดลายทางขวาง ตีนซิ่นตามวัฒนธรรมดั้งเดิมจะเป็นซิ่นลายขวางบนพื้นสีเหลืองเรียกซิ่นตามะนาว ตัวซิ่นหรือตีนจกใช้การทอโดยเทคนิคจกเส้นยืนสีดำและแดง ส่วนลายดอกใช้สีตัดกันในกลุ่มสีแบบโบราณตามเอกลักษณ์ดั้งเดิม ผ้าตีนจกไทยวนเมืองลองนิยมใช้เส้นใยฝ้ายไหมสีเหลืองเป็นสีหลักในการจกตกแต่งลวดลายเน้นจังหวะลวดลายไม่ให้ถี่แน่นจนเกินไป จบลายด้วยหางสะเปาซึ่งเป็นแถบเส้นสีและนิยมจกลวดลายเฉพาะส่วนครึ่งบนของตีนซิ่นโดยเว้นพื้นสีแดงส่วนล่างไว้
วิธีการทอผ้าตีนจกเมืองลอง
ในวัฒนธรรมของกลุ่มไทยวน “จก” เป็นคำกิริยาในภาษาพื้นเมืองภาคเหนือหรือภาษาไทยวน ซึ่งหมายถึงการล้วงและในการทอผ้าชนิดนี้ของชาวไทยวนจะมีลักษณะการทอลวดลายบนผืนผ้าโดยใช้ขนเม่นหรือไม้แหลมจกหรือล้วงเส้นด้ายยืนสีต่างๆ ให้เป็นลวดลายตามที่กำหนดไว้ ผ้าที่ทอจึงมีชื่อว่า “ผ้าจก” ส่วนใหญ่ทอเพื่อไปต่อเป็นเชิงผ้าซิ่นจึงเรียกผ้าซิ่นที่ต่อด้วยผ้าจกว่า “ผ้าซิ่นตีนจก” การทอผ้าจกของอำเภอลองจังหวัดแพร่ นิยมใช้ฝ้ายสีเหลืองเป็นสีหลักในการจกลวดลายขณะจกด้านหลังของลายผ้าจะอยู่ด้านบนของฟืม การทอผ้าตีนจกของช่างทอผ้าชาวเมืองลองในอดีตเป็นการทอผ้าด้วยกี่หรือหูกทอผ้าแบบพื้นเมือง โดยหลังจากกระบวนการเตรียมเส้นไหม พุ่ง เส้นไหมยืน และสืบเครือหูกเรียบร้อยแล้ว การจกทำลวดลายบนผืนผ้าจะใช้ขนเม่นหรือไม้ไผ่ปลายมนเหลาให้แบนๆ จกล้วงด้ายเส้นยืนจากด้านหลังของผ้า แล้วใช้นิ้วมือสอดสลับเส้นไหมผูกเป็นลวดลายตามที่ต้องการ โดยลายหลักจะสอดเส้นไหม 4-6 เส้น และลายประกอบจะสอดเส้นไหม 2 เส้น การทอด้วยวิธีดังกล่าวจะต้องอาศัยฝีมือและความชำนาญและความอดทนของช่างทอผ้าจึงจะได้ผ้าที่สวยงามรวมทั้งต้องใช้เวลานานกว่าที่จะทอได้แต่ละผืนในปัจจุบันช่างทอผ้าจกชาวเมืองลองส่วนใหญ่ได้ใช้อุปกรณ์ที่ช่วยให้การทอลวดลายทำได้รวดเร็วขึ้น โดยวิธีที่เรียกว่า “มัดเขา” เพื่อใช้ในการเก็บลวดลายของผ้าทอตีนจกที่ต้องการจะนำไปทอ ซึ่งเป็นส่วนช่วยให้การทอผ้าจกสะดวกขึ้นจากการเหยียบตะกอเพื่อยกเขาเพียงครั้งเดียวจะเป็นการยกเส้นยืนตลอดพร้อมกันทั้งแนว ทำให้สะดวกและรวดเร็วในการสอดเส้นไหมสีตามลวดลายที่มัดเขาไว้ นอกจากนี้ “เขาฟืม” ที่มัดเก็บลวดลายไว้แล้วสามารถนำมาประกอบบนกี่เพื่อต่อเส้นด้ายยืนใหม่สำหรับทอเป็นผืนผ้าตามลวดลายเดิม
การนำไปใช้ประโยชน์
ในอดีตช่างทอผ้าชาวเมืองลองนอกจากจะทอผ้าจกเพื่อใช้เองในครอบครัว เช่น ทอเป็นผ้าพาดไหล่ ย่าม และทอเพื่อต่อเชิงซิ่นเป็นซิ่นตีนจกใช้สำหรับสวมใส่ในโอกาสสำคัญแล้วยังใช้การทอผ้าจกเพื่อใช้ในพิธีกรรมทางศาสนางานบุญต่างๆ เช่น ผ้าอาสนะ ผ้าคลุมศีรษะนาค ผ้าห่อคัมภีร์ แต่ปัจจุบันได้มีการพัฒนารูปแบบของผ้าจกหลายรูปแบบมากขึ้นตามประโยชน์ใช้สอย ได้แก่
- ตีนจก: ใช้ต่อกับเชิงผ้าถุงเป็นตีนซิ่น ส่วนใหญ่จะทอเป็นผ้าความกว้างประมาณ 10 นิ้ว ยาวประมาณ 70 นิ้ว ปัจจุบันมีการทอโดยเพิ่ม ขนาดฟืมให้ผ้ามีขนาดกว้างขึ้นจนถึงทอจกตลอดทั้งผืน
- ผ้าสไบหรือผ้าสะหว้านบ่า: เป็นผ้าหน้าแคบมีความกว้างประมาณ 7 นิ้ว ความยาวประมาณ 60 นิ้ว ส่วนกลางของผ้าเป็นลวดลายจก บริเวณ ชายผ้าทั้งสองด้านทำเป็นชายรุยผ้าสะไบนี้นิยมใช้ประกอบในการแต่งกายแบบพื้นเมืองภาคเหนือ
- ผ้าคลุมไหล่: ขนาดของผ้ามีความกว้างประมาณ 18 นิ้ว ความยาวประมาณ 60 นิ้ว เป็นผ้าจกที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้เป็นห่มคลุมไหล่ ปัจจุบัน นิยมใช้กับการแต่งกายแบบพื้นเมืองภาคเหนือ ผ้าชนิดนี้ผู้ใช้บางคนนิยมนำไปตกแต่งประดับบ้านเพื่อความสวยงาม
- ผ้าเทป: เป็นผ้าที่มีความกว้างประมาณ 14 นิ้ว ยาวประมาณ 100 นิ้ว ทอเป็นชิ้นลักษณะลวดลายน้อยกว่าตีนซิ่น เป็นผ้าที่ทอขึ้นเพื่อนำไป ตัดตกแต่งกับผ้าพื้นให้เกิดความสวยงามเมื่อตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าสวมใส่ หรือ นำไปประดิษฐ์เป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ
สรุป
ผ้าจกเมืองลองเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาวไทย การทอผ้าซิ่นตีนจกเมืองลองเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและเป็นฝีมือ ผ้าที่ทอขึ้นมามีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ ปัจจุบันผ้าจกเมืองลองได้มีการพัฒนารูปแบบมากขึ้นเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ในหลายด้านของชีวิตประจำวัน การปรับใช้ผ้าจกเมืองลองในสมัยใหม่เป็นตัวอย่างการรักษาและพัฒนาวัฒนธรรมโบราณให้ยังคงมีความสำคัญในสังคมไทยปัจจุบันแม้กระทั่งการใช้ประโยชน์ในวงการแฟชั่นและการตกแต่งบ้าน ผ้าจกเมืองลองยังคงสะท้อนความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทยอันน่าประทับใจ
ขอบคุณแห่งที่มา: ภูมิปัญญาผ้าไหมไทย