“กี่” คือ เครื่องทอผ้าพื้นบ้านที่ใช้ทอผ้าผ้ากันอยู่ทั่วไป ซึ่งในบทความร้านชอบไหมจะมาให้ความรู้เรื่อง “กี่” และส่วประกอบ รวมถึงกลไกการทำงาน
กี่
กี่ หรือ หูก คือการขึงเส้นยืนในแนวนอน โดยแบ่งออกไปเป็น 2 แบบ คือ กี่ตั้งพื้นที่ใช้กันอยู่ทั่วไป และ กี่เอว ที่มีใช้กันบ้างในกลุ่มชาติพันธ์ุบนพื้นที่สูง
ส่วนประกอบกี่ตั้งและอุปกรณ์การทอ
- โครงกี่ ทำมาจากไม้เนื้อแข็งหรือไม้ไผ่เป็นโครงสร้าง ใช้สำหรับยึดติดส่วนประกอบต่างๆ สำหรับการทอผ้า
- ตะกอหรือที่เรียกว่าเขา ทำด้วยเชือกไนลอน มีลักษณะเป็นเส้นที่มีช่องตรงกลางเรียงต่อกันในแผงตะกอ โดยด้ายยืนในแต่ละเส้นจะถูกร้อยผ่านตะกอ 1 เส้นต่อ 1 ตะกอ ซึ่งเส้นยืนในแผงตะกอเดียวกันจะถูกแยกยกขึ้นพร้อมกัน เพื่อให้เปิดช่องระหว่างเส้นยืนถูกยกขึ้น และที่ไม่ได้ถูกยกให้ด้ายพุ่งเข้าไปขัดสาน โดยในการทอผ้าจะต้องมีจำนวนแผงตะกอตั้งแต่ 2 แผงขึ้นไป และจำนวนแผงตะกอจะเป็นตัวกำหนดขนาดและความซับซ้อนของโครงสร้างลายทอ ที่ยิ่งมีจำนวนมากอย่าง กี่ที่มี 8 แผงตะกอ จะสามารถทอลายที่มีโครงสร้างการทอลายขนาดใหญ่มีความซับซ้อนมากกว่า 4 แผงตะกอได้
- เท้าเหยียบ หากเป็นกี่ตั้งพื้น แผงตะกอแต่ละแผงจะผูกติดอยู่กับเท้าเหยียบ โดยเมื่อเหยียบเท้าเหยียบลง แผงตะกอที่ผูกติดอยู่จะถูกดึงให้ยกขึ้น เพื่อแยกยกด้ายยืนที่อยู่ในแผงตะกอนั้นขึ้น ให้สามารถสอดเส้นพุ่งเข้าไปขัดสานได้ ตามปกติจำนวนเท้าเหยียบจะเท่ากับจำนวนแผงตะกอ คือ ผูกจับคู่ 1 เท้าเหยียบกับ 1 แผงตะกอ แต่ในกรณีที่ต้องการทอลายเดียวกันตลอดความยาวผ้า เพื่อความสะดวกในการเหยียบยกตะกอจึงมีการผูกโยงเท้าเหยียบ 1 เท้าเหยียบกับแผงตะกอมากกว่า 1 แผง ตามจังหวะการขัดสานในแต่ละแนวเส้นพุ่ง ดังนั้นจำนวนเท้าเหยียบจะเท่ากับจำนวนแนวเส้นพุ่งใน 1 รีพีทลาย ซึ่งอาจจะมากว่าหรือน้อยกว่าจำนวนแผงตะกอก็ได้เช่นกัน
- ฟันหวีหรือฟืม ทำมาจากโลหะหรือซี่ไม้ไผ่ที่เรียงต่อกันอย่างสม่ำเสมอ ใช้สำหรับสอดด้ายยืนผ่านช่องละ 1 เส้นหรือมากกว่า 1 เส้น ซึ่งนอกจากจะมีหน้าที่ในการเรียงลำดับเส้นยืนจากริมผ้าด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่งแล้ว ช่องห่างระหว่างซีกฟืมหรือความถี่ของช่องฟันหวี ยังเป็นตัวกำหนดความหน่าแน่นของด้ายยืนอีกด้วย โดยจะมีผลโดยตรงต่อความละเอียดของเนื้อผ้ารวมทั้งยังเป็นตัวกำหนดขนาดหน้ากว้างผ้าด้วย
- กระสวย คืออุปกรณ์ที่แยกออกมาจากกี่ โดยจะใช้เก็บเส้นพุ่งและเก็บเส้นพุ่งเข้าไปขัดสานกับเส้นยืนที่ถูกแยกขึ้น ที่ไม่ได้ถูกยกให้เกิดการขัดสาน รูปทรงของกระสวย ตรงกลางจะเป็นช่องสำหรับเก็บใส่หลอดด้ายพุ่ง 1-2 หลอด ส่วนปลายทั้ง 2 ข้างมีลักษณะเรียวสมมาตร เพื่อนำเส้นพุ่งไปและกลับจากซ้ายไปขวา ขวาไปซ้ายอย่างต่อเนื่อง วัสดุที่ใช้ทำกระสวย จะมีได้แก่ ไม้เนื้อแข็ง ไม้เนื้ออ่อน รวมถึงการนำท่อพีวีซีมาตัดประกอบขึ้นรูปเป็นกระสวยโดยใช้ความร้อนและกาวได้อีกด้วย
กลไกการทำงานของ “กี่”
การทำงานของกี่ ด้ายยืนที่มีความยาวหลายสิบเมตรแต่ละเส้นจะสืบเข้ากี่โดยการผูกต่อชุดใหม่และชุดเก่าเข้าด้วยกัน โดยด้ายยืนชุดใหม่จะถูกม้วนเก็บไว้ในแกนม้วนด้ายยืนที่ด้านหลังกี่ ด้ายยืนทุกเส้นจะถูกร้อยผ่านชุดตะกอและฟันหวีอย่างต่อเนื่อง ขึงตึง พร้อมที่จะทอ ผู้ทอจะทำการยกแผงตะกอตามโครงสร้างการทอที่กำหนดโดยเริ่มแนวเส้นพุ่งเส้นที่ 1 พุ่งกระสวยนำเส้นพุ่งเข้าไปขัดสานกับเส้นยืน เอาแผงตะกอที่ยกไว้ลง ตีกระทบฟันหวี ทอต่อในแนวเส้นพุ่งแนวถัดไปอย่างต่อเนื่อง จนได้ความยาวผ้าที่ต้องการ ผ้าที่ถูกทอแล้วจะถูกม้วนเก็บไว้ในแกนม้วนผ้าด้านหน้ากี่
ขอบคุณแหล่งที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=ptGobDKBZZQ&list=PLWZhCdvwdU6f_Gbc9Z6Me7kxi_zCBs4CS&index=3