ผ้าขิดไหม ศิลปะวัฒนธรรมของชาวไทยลาว

ผ้าขิดไหมเป็นผลงานที่สะท้อนถึงศิลปะทอผ้าของชาวไทยลาวอันน่าภูมิใจ ที่สืบสานความรู้ถ่ายทอดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ผ้าผืนนี้เน้นการใช้ไม้ค้ำในกระบวนการทอผ้าเพื่อสร้างลวดลายอันสง่างามและเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยลาว

ผ้าขิดไหม เป็นผ้าทอที่มีวิธีการทําลวดลายบนผืนผ้าด้วยการเพิ่มเส้นด้ายพุ่งเหมือนการจก แต่ผ้าขิดทําลวดลายติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผืนผ้า โดยใช้ไม้แผ่นบาง ๆ ที่เรียกว่า ไม้ค้ํา สอดระหว่างเส้นด้ายยืนงัดช้อนขึ้นเพื่อสอดเส้นพุ่งให้เกิดลวดลาย จึงเรียกกันว่า ลายขิด (ขิด เป็นภาษาพื้นบ้านอีสาน หมายถึง สะกิด หรือ งัดซ้อนขึ้น) นิยมทอในกลุ่มชนเชื้อสายไทยลาวแถบลุ่มน้ําโขง บางส่วนของภาคเหนือและภาคกลาง ลวดลายดั้งเดิมที่นิยมทอ เช่น ลายนาค ลายตะเภาหลงเกาะ ลายดอกแก้ว ลายช้าง ลายเต่า และลายตะขอ เป็นต้น

แต่เดิม ผ้าขิดจะทอโดยการสะกิดเส้นด้ายยืนขึ้นตลอดหน้ากว้างของผืนผ้า แล้วขัดด้วยไม้ค้ําเพื่อสอดเส้นด้ายพุ่ง เส้นด้ายพุ่งและเส้นด้ายยืนจะขัดกันตามจังหวะจนเกิดเป็นลวดลายต่าง ๆ เห็นทั้งด้านหน้าและด้านหลังของผืนผ้าและทอเป็นผ้าหน้าแคบ ในวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวอีสานนิยมทอผ้าขิดและทําเป็นลายบนหน้าหมอนเพื่อใช้ในโอกาสพิเศษ เช่น งานมงคลหรือพิธีทางศาสนา ใช้ทําหมอนขิดเพื่อเป็นของขวัญของกํานัลในโอกาสสําคัญ รองลงมาใช้ทําเป็นผ้าคลุมไหล่และผ้าโพกผมเป็นของกํานัลให้แก่กัน นับถือกันว่าผ้าขิดเป็นของดี เป็นของสูง ในสมัยก่อนจึงเก็บไว้บนที่สูง เช่น บนโต๊ะ บนที่นอน หรือผูกแขวนไว้บนเพดาน

ลวดลายทั้งหมดเป็นลายที่เป็นสิริมงคล โดยใช้เส้นฝ้ายในการทอสําหรับทําหมอนหนุนศีรษะ นิยมทอในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือนิยมใช้สีแดงและสีดํา ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมใช้สีดําเป็นหลัก

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๒๕ ในคราวที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ วัดถ้ํากลองเพล อําเภอหนองบัวลําภู จังหวัดอุดรธานี (ปัจจุบันจังหวัดหนองบัวลําภู) ทรงสนับสนุนให้มีการทอผ้าขิดโดยนําลวดลายเดี่ยว ๆ จากหน้าหมอน ที่ทอด้วยฝ้ายมาทอเรียงต่อเนื่องเป็นลวดลายเดียวเต็มผืนผ้าและขยายให้ผ้าหน้ากว้างขึ้น รวมทั้งพัฒนาเทคนิคการทอลวดลายขิดโดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า “เขา” ยกให้เกิดลวดลาย เพื่อให้นําไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางแพร่หลายขึ้น และทรงสนับสนุนให้ทอด้วยเส้นไหม จึงเป็นที่มาของคําว่า “ผ้าไหมขิด” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

อ้างอิง:https://www.chobmai.com/article/98/%E0%B8%9C%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A1-%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%9C%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A7