หากพูดถึงผ้าไหมของถึงของภาคใต้ ก็ควรจะหนีไม่พ้นผ้าจวนตานีหรือผ้าล่องจวน ที่เป็นมรดกวัฒนธรรมและการทอผ้าที่มีความเฉพาะเจาะจงในภาคใต้ของประเทศไทย และในบทความนี้เราจะให้คุณผู้อ่านไปเรียนรู้เรื่องราวประวัติและลักษณะของผ้าจวนตาน
ประวัติผ้าจวนตานี
ผ้าจวนตานีหรือผ้าล่องจวน เป็นผ้าทอดั้งเดิมในพื้นที่ทางภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย ที่มีได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งเดิมมีศูนย์กลางคือเมืองปัตตานีในอดีตที่เป็นเมืองท่าสําคัญเมืองหนึ่งในคาบสมุทรมลายู มีความสัมพันธ์ทางการค้าและการเมือง มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและวัฒนธรรมกับประเทศต่างๆ ที่เข้ามาติดต่อค้าขาย เช่น จีน อินเดีย ประเทศในแถบอาหรับ ยุโรป และมาลายา โดยมีสินค้าประเภทผ้าไหม เส้นไหม และฝ้าย เป็นสินค้าที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนอยู่ด้วย จึงนับได้ว่าเมืองปัตตานีเป็นเมืองสําคัญในการค้าขายสินค้าผ้าไหมและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเกี่ยวกับผ้าแห่งหนึ่ง
แต่ทว่ามันก็ไม่มีหลักฐานที่ปรากฏชัดเจนว่ามีการใช้และการทอผ้าเริ่มในภาคใต้เมื่อใด แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าเริ่มมีมาก่อนราชอาณาจักรศรีวิชัยเจริญรุ่งเรือง จากการที่ติดต่อและค้าขายกับประเทศจีนและอินเดีย ชาวพื้นเมืองของปัตตานีที่อาจจะมีความรู้ในการทอผ้าอยู่แล้วได้มีการรับและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม จนเกิดการสร้างสรรค์สิ่งทอขึ้นใหม่ด้วยกรรมวิธีมัดหมี่และทอแบบประณีตที่มีรูปแบบที่เรียกว่าจวนตานีหรือผ้าลิมาหรือผ้ายกตานีกลายเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในช่วงสมัยอยุธยาและเป็นสิ่งที่มีคุณค่าของชุมชนในภาคใต้ โดยเฉพาะในสามจังหวัดภาคใต้ใกล้ชายแดนไทยมาเลเซีย ผ้าจวนตานียังถูกกล่าวถึงในการแต่งกายในวรรณคดีไทย ตัวอย่างเช่น เรื่องขุนช้างขุนแผน พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 กล่าวถึงเครื่องแต่งกายของตัวละครเป็นผ้าตานีสองชั้น ชั้นในทำจากผ้าไหมที่ประณีตสวยงามและมีสีสัน ชั้นนอกปักและฉลุเป็นลวดลายสลับซับซ้อน และจากเรื่องอิเหนาพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 กล่าวถึงวิธีการแต่งตัวของตัวละครที่มีตำแหน่งสูงสวมผ้าโสร่งจวนตานีทำจากไหม
ลวดลายและการทอผ้าจวนตานี
ผ้าจวนตานีมีเอกลักษณ์เฉพาะที่การออกแบบลวดลายและสีสัน โดยมีการทอทั้งจากเส้นไหมและเส้นใยฝ้าย และยกด้วยเส้นเงินหรือเส้นทอง ผ้าจวนตานีจะมีแถบริ้วลวดลายวางเป็นแนวแทรกอยู่ระหว่างผืนผ้าและชายผ้าทั้งสองด้าน มีคำเรียกในภาษาพื้นถิ่นว่า “จูวา” หรือ “จวน” ซึ่งแปลว่า “ร่อง” หรือ “ทาง” จึงมีชื่อที่เรียกผ้าชนิดนี้อีกชื่อหนึ่งว่า “ผ้าล่องจวน” นอกจากนี้สีของผืนผ้านิยมใช้สีที่ตัดกัน โดยบริเวณท้องผ้าจะใช้สีหลักได้แก่ ม่วง เขียว ฟ้า น้ำตาล ส่วนชายผ้าทั่วไปจะใช้เฉดสีแดง โดยผ้าและชายผ้าทั้งสองด้านทอเป็นผืนผ้าเดียวกัน นอกจากการใช้สีที่ตัดกันแล้ว พบว่าแต่ละแถบของผ้าจวนตานีโดยทั่วไปมีห้าสี ซึ่งคำว่า “ลิมา” ซึ่งเป็นอีกชื่อของผ้าจวนตานี เป็นคำภาษามาเลย์หมายถึง “ห้า” (ผ้าจวนตานีอาจทอได้ มากกว่าห้าสี แต่หาได้ยาก) การทอลวดลายทั้งวิธีการทอแบบมัดหมี่ และทอแบบยกสอดดิ้นเสริมในผืนผ้า จึงนับเป็นผ้าที่มีลักษณะพิเศษเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ทอยากมีราคาและใช้เฉพาะในโอกาสพิเศษเท่านั้น
ประโยชน์ของผ้าจวนตานี
ผ้าจวนตานีมีลวดลายบนผืนผ้าหลากหลายลวดลายที่ไม่ว่าจะเป็น ลายโคม ลายประจำยามก้านแย่ง ลายตาราง เป็นต้น โดยผ้าจวนตานีจะนิยมใช้เป็นผ้าคลุมศีรษะ ใช้คล้องคอ สำหรับผู้หญิงจะใช้นุ่งเป็นที่คาดอก และสำหรับผู้ชายจะใช้คาดสวมทับด้านบนของกางเกง
ขอบคุณแห่งที่มา: ภูมิปัญญาผ้าไหมไทย