การสร้างสรรค์ลวดลายบนผืนผ้าด้วยเทคนิคการขิด (ผ้าขิดสันป่าตอง)

ในบทความนี้เราจะพาคุณผู้อ่านไปค้นพบเรื่องราวที่น่าสนใจของผ้าฝ้ายลายขิดไทเขินหรือผ้าขิดสันป่าตอง ด้วยเทคนิคการขิดที่เป็นศิลปะและวัฒนธรรมของกลุ่มคนไทเขิน

ลายผ้าฝ้ายลายขิดไทเขิน

ผ้าขิดของสันป่าตองที่เห็นชัดและมีเยอะเก็บไว้จะเป็นของกลุ่มคนไทเขินของบ้านต้นแหนหลวงและต้นแหนน้อย หากว่าเป็นของต้นแหนที่นิยมก็จะมีลายช้าง ลายม้า ซึ่งที่จริงก็อาจเป็นคติความเชื่อที่เอาไปผูกกับพระพุทธศาสนา เพราะอย่างลายม้า ว่ากันว่าม้าที่อยู่บนผืนผ้าเป็นม้าท่เจ้าชายสิทธัตถะขี่ก่อนออกบวช และจะมีลายสิงห์ ลายนกหับ แล้วก็ลายสะเปา (เรือสำเภา) และอาจมีลายที่เป็นแท่นธรรมาสน์หรือปราสาท

การใช้ผ้าขิดสันป่าตอง

ผ้าขิดสันป่าตองมักจะนิยมนำไปใช้ทำเป็นผ้าปูที่นอนหรือผ้าปูสลี และในลายผ้าปูที่นอน ผ้าปูสลี ที่นิยมใช้จะเรียกว่า ลายต๋าแหลวปิ้น ลักษณะลายต๋าแหลวปิ้นจะคล้ายๆ ไม้สาน เพราะว่าไม้สานจะมีลักษณะที่เหมือนกับว่าดักสิ่งที่ไม่ดีและจะพบเฉพาะในกลุ่มชนไทเขิน ไทลอง ไทลื้อ ในสกุลตระกูลไท

การทอผ้าซิ่นสันป่าตอง

ในการทอจะใช้การวนหูก ปกติต้องดูก่อนว่าจะต้องการความกว้าง ความยาวเท่าไหร่ แล้วพอวนเสร็จก็จะใช้ไม้ที่เรียกว่าไม้เก็บลายมาเก็บลายว่าจะยกกี่เส้นข้ามกี่เส้น ซึ่งลายดีจะอยู่ด้านล่างแล้วก็จะเอาไม้เก็บลายมาเก็บ แล้วก็มีฝ้ายสอดเข้าไปถักเข้าไปเป็นด้ายพิเศษเป็นสี ซึ่งขิดของทางเหนือที่จะนิยมใช้เป็นสีแดงกับสีดำ พอเปิดหน้ากี่ก่อนแล้วก็ไปเปิดหลังกี่อีกอันหนึ่ง จากนั้นก็จะใช้ไม้ก้านมะพร้าวสอดใส่เข้าไปเก็บลายไว้ และจะเอาด้ายพิเศษมาพุ่งตลอดหน้าผ้าและเอาลง จากนั้นก็จะพุ่งฝ้ายสีขาวมาอีกเส้นหนึ่ง ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนตามที่เราแกะลายเอาไว้

ขอบคุณแหล่งที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=ptGobDKBZZQ&list=PLWZhCdvwdU6f_Gbc9Z6Me7kxi_zCBs4CS&index=3